ทัช พร็อพเพอร์ตี้ บริษัทในเครือ พลัส พร็อพเพอร์ตี้ ผู้เชี่ยวชาญด้านระบบวิศวกรรมอาคารที่มีประสบการณ์มากกว่า 20 ปี ได้รวบรวม 7 แนวทางสำคัญ ที่ควรดำเนินการเพื่อเสริมความพร้อมอาคารให้สามารถรับมือกับช่วงมรสุมที่มีพายุฝนฟ้าคะนอง รวมถึงเตรียมพร้อมรับมือในช่วงหน้าฝนที่จะมาถึงได้อย่างรอบด้านหลังเกิดเหตุแผ่นดินไหว เพื่อความปลอดภัยของผู้ใช้งานอาคาร และการอยู่อาศัย
ทำไมการเตรียมตัวช่วงนี้จึงสำคัญ?
แม้อาคารจะผ่านการตรวจสอบเบื้องต้นว่ามีความมั่นคงแข็งแรง และปลอดภัย หลังได้รับแรงสั่นสะเทือน จากเหตุแผ่นดินไหวเมื่อเร็วๆ นี้ อาคารอาจจะมีจุดที่มองไม่เห็นด้วยตาเปล่า เช่น รอยร้าวขนาดเล็กบริเวณผนัง รอยต่อของอาคาร หรือการคลายตัวของวัสดุยาแนวตามแนวต่อของอาคาร ซึ่งหากมีฝนตกหนักตามมา น้ำอาจซึมเข้ารอยรั่ว สร้างความเสียหายให้กับอาคารหรือเป็นเหตุให้ระบบไฟฟ้าและเครื่องกลทำงานผิดปกติ
7 แนวทางที่ผู้ดูแลอาคารควรดำเนินการ
- ตรวจสอบโครงสร้างหลักและส่วนต่างๆ ของอาคาร ควรมีการตรวจสอบโครงสร้างทั้งบริเวณเสา คาน พื้น ผนัง เพื่อหารอยร้าวขนาดเล็กที่อาจลุกลาม ขยายใหญ่ขึ้น หรือจุดที่อาจเสียหายเพิ่มขึ้นจากน้ำและความชื้นในช่วงที่ฝนตก โดยดำเนินการซ่อมแซมให้กลับมาสมบูรณ์ตามเดิม ซึ่งจะช่วยลดความเสี่ยงต่อความเสียหายในระยะยาว
- ปรับปรุงระบบกันซึมดาดฟ้าและแนวรอยต่อของอาคาร ดาดฟ้าเป็นจุดที่รับน้ำฝนโดยตรง หากมีรอยแตกร้าว รั่วซึม หรือการระบายน้ำที่ไม่ดี แม้เพียงเล็กน้อยอาจส่งผลให้เกิดความเสียหายต่อโครงสร้างภายในชั้นล่าง เช่น ฝ้า ผนัง หรือระบบสายไฟ ควรตรวจสอบแผ่นกันซึม ยาแนวรอยต่อ และบริเวณขอบอาคารให้แน่ใจว่ายังสามารถป้องกันน้ำได้อย่างมีประสิทธิภาพ
- ตรวจสอบระบบระบายน้ำ ระบบระบายน้ำที่ไม่สมบูรณ์ เช่น ฝาตะแกรง รางระบายน้ำ ท่อ บ่อพัก รวมถึงปั๊มสูบน้ำที่ระบายน้ำออกจากอาคาร หากไม่อยู่ในสภาพที่พร้อมใช้งาน มีการอุดตัน ทรุดเอียงทำให้ความลาดเอียงไม่เพียงพอ อาจทำให้การระบายน้ำไม่มีประสิทธิภาพ มีน้ำท่วมขังหรือไหลย้อนกลับเข้าอาคารได้ นอกจากนี้ควรตรวจสอบจุดที่เคยเกิดการรั่วซึมในอดีต เช่น ฝ้าเพดานหรือแนวผนัง เพื่อวางแผนซ่อมแซม ก่อนที่ปัญหาจะเกิดซ้ำ
- ตรวจสอบระบบไฟฟ้า และอุปกรณ์ป้องกันไฟฟ้าลัดวงจร ควรมีการตรวจเช็กความสมบูรณ์ของอุปกรณ์ประกอบ จุดยึดหรือเชื่อมต่อ รวมถึงการทำงานของอุปกรณ์ต่างๆ ว่ายังอยู่ในสภาพปกติหรือไม่ ซึ่งอาคารสามารถใช้การตรวจเช็กและการบำรุงรักษาไฟฟ้าประจำปีมาดำเนินการในช่วงนี้ได้หากมีการรั่วซึมของน้ำเข้ามาในตัวอาคาร เพื่อช่วยลดอันตรายที่เกิดกับชีวิตและทรัพย์สินของผู้ใช้อาคาร
- ตรวจสอบระบบควบคุมความชื้นภายในอาคาร อย่างเช่น ระบบระบายอากาศ ระบบเติมอากาศ และระบบปรับอากาศ ควรตรวจเช็กจุดติดตั้งอุปกรณ์ต่างๆ ในระบบ ว่ายังอยู่ในสภาพปกติ มีความมั่นคงแข็งแรง ไม่มีการรั่วซึมของท่ออากาศ เพราะอุปกรณ์ส่วนใหญ่จะติดตั้งอยู่เหนือฝ้า จึงต้องอาศัยผู้เชี่ยวชาญที่มีความรู้ความเข้าใจมาดำเนินการ หากระบบไม่สมบูรณ์ ในช่วงที่มีฝนตกหรือความชื้นสูง อาจส่งผลกระทบต่อคุณภาพอากาศภายในอาคาร และมีอาจปัญหาเรื่องเชื้อราตามมา การตรวจเช็กและการบำรุงรักษาเชิงป้องกัน (Preventive Maintenance) อย่างสม่ำเสมอจะช่วยให้ระบบทำงานได้อย่างต่อเนื่องและปลอดภัย
- วางแผนเฝ้าระวังจุดเสี่ยงน้ำท่วมขังในพื้นที่ต่ำ เช่น ลานจอดรถชั้นใต้ดิน หรือแนวขอบอาคาร อาจเผชิญปัญหาน้ำไหลบ่าจากภายนอก ควรประเมินความเสี่ยงของพื้นที่โดยรอบ พร้อมวางแผนสำรอง เช่น การติดตั้งปั๊มน้ำฉุกเฉินหรือกำแพงกันน้ำชั่วคราว รวมถึงฝึกซ้อมการปฏิบัติงานเมื่อเกิดสถานการณ์ฉุกเฉินร่วมกับทีมอาคาร
- ตรวจสอบการยึดอุปกรณ์ต่าง ๆ ให้มั่นคง แรงสั่นจากแผ่นดินไหวอาจทำให้อุปกรณ์บางส่วนเริ่มหลวมโดยไม่รู้ตัว เช่น ป้ายไฟ กล้องวงจรปิด กล่องไฟฉุกเฉิน หรือของตกแต่งผนัง การตรวจสอบความมั่นคงของอุปกรณ์โดยรอบ โดยเฉพาะในพื้นที่ใช้งานส่วนกลาง จะช่วยป้องกันการหล่นร่วงในช่วงลมแรงหรือฝนตกหนัก
การดำเนินการตามแนวทางเหล่านี้ จะช่วยเพิ่มความมั่นใจให้กับผู้ใช้งานอาคาร และสามารถลดความเสี่ยงจากความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นในอนาคตได้ ผู้ดูแลอาคารควรเร่งดำเนินการตรวจสอบเชิงลึก และวางแผนดูแลระบบต่าง ๆ ให้พร้อมรับมือกับช่วงมรสุมและฤดูฝนอย่างรอบด้าน โดยเฉพาะอาคารที่ได้รับผลกระทบจากแผ่นดินไหว เพื่อสร้างความปลอดภัย ความอุ่นใจ และยืดอายุการใช้งานของอาคารในระยะยาว